"ขิง" เป็นสมุนไพรที่คนไทยนำมาปรุงเป็นอาหาร ได้สารพัด ช่วยทำให้อาหารหอมหวนชวนทาน ช่วยดับกลิ่นคาวในอาหาร นอกจากเป็นอาหารเลิศรสแล้วยังเป็นที่รู้จักกันดีว่าขิงช่วยขับลม ช่วยย่อยอาหาร ช่วยขับเหงื่อ ขับน้ำนม คนเอเชียเช่นจีน ใช้ประโยชน์จากขิงมามากกว่า 2000 ปี มีการใช้ขิงในยุโรปตอนเหนือมาเกือบ 1000 ปี แต่เชื่อไหมว่าเจ้าขิง สมุนไพรที่ดีเลิศประเสริฐศรีนี้ เมื่อครั้งแรกที่ถูกนำไปอเมริกาเมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 15 นั้น ขิงถูกลืมทิ้งไว้ในเรือและในตอนนั้นคนอเมริกันใช้ขิงกันไม่เป็น ปัจจุบันขิงเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีการศึกษาวิจัย และใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง เช่นทางด้านของการช่วยย่อยอาหาร ช่วยในด้านการไหลเวียนของโลหิต ช่วยลดความดัน ช่วยลดคลอเลสเตอ รอล ช่วยลดการอักเสบ ช่วยแก้ปวด ช่วยแก้คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น จีนเป็นชนชาติเก่าแก่ที่มีการใช้ประโยชน์จากขิงมายาวนาน แพทย์จีนโบราณจัดขิงเป็นพืชรส เผ็ดอุ่น มีฤทธิ์แก้หวัดเย็น ขับเหงื่อ บำรุงกระเพาะ แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน ลดคลอเลสเตอรอลที่สะสมในตับและเส้นเลือด ชาวบ้านทั่วไปจะรู้ดีว่าถ้าต้มขิงกับน้ำตาลอ้อยจะช่วยแก้หวัด ถ้าใช้ขิงสดปิดที่ขมับทั้งสองข้างจะช่วยแก้ปวดหัว และถ้าเอาขิงสดอมไว้ใต้ลิ้นจะช่วยแก้อาการกระวนกระวาย แก้คลื่นไส้อาเจียนได้ดี ในตำรับเภสัชของสาธารณรัฐประชาชนจีน ค.ศ. 1985 จึงบรรจุทั้งขิงสด ขิงแห้งและทิงเจอร์ ขิงเป็นสมุนไพรแห่งชาติตัวหนึ่ง แพทย์จีนโบราณจะใช้ประโยชน์จากขิงสดและขิงแห้งในแง่มุมที่ต่างกันโดยจะใช้ขิงแห้งในภาวะที่ขาดหยาง ภาวะขาดหยาง คือ ภาวะที่ร่างกายอาการเย็น หนาวง่ายทนต่อความเย็นได้น้อย การย่อยอาหารไม่ดี เป็นต้น ทั้งยังมีการใช้ขิงแก่ในคนไข้ปวดข้อรูมาติกส์ม ขิงสดจะใช้ในจุดมุ่งหมายที่ต้องการกำจัดพิษที่เกิดจากการติดเชื้อภายในร่างกายโดยการขับพิษออกมาทางเหงื่อ ขิงสดช่วยทำให้ร่างกายปรับสภาพในภาวะที่ร่างกายมีอาการเย็นได้เช่นเดียวกับขิงแห้ง ขิงสดช่วยลดการคลื่นไส้อาเจียน โดยใช้ขิงสด 30 กรัม ( 3 ขีด) สับให้ระเอียดต้มทานน้ำในขณะท้องว่างนอกจากนี้ขิงยังช่วยกำจัดพิษโดยการเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ขิงสดยังช่วยขับเสมหะ โดยใช้ขิงสดคั้นเอาแต่น้ำประมาณครึ่งถ้วยผสมน้ำผึ้ง 30 กรัม ( 6 ช้อน) อุ่นให้ร้อนก่อนรับประทาน ปัจจุบันจีนมีการศึกษาวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ของขิงพบว่าขิงแห้งช่วยให้กระเพาะอาหารแข็งแรง ทั้งขิงสดและขิงแห้งมีฤทธิ์ด้านการคลื่นไส้อาเจียน และในการศึกษาในห้องทดลองพบว่าขิงมีฤทธิ์แก้ปวดและต้านการอักเสบ ส่วนญี่ปุ่นได้มีการนำขิงมาใช้ประโยชน์ต่างๆ คริสต์ศตวรรษที่ 8 การใช้จะเหมือนๆ กับของจีนปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับขิงในญี่ปุ่นพบว่าขิงมีฤทธิ์บำรุงหัวใจ ลดความดันโลหิต ลดคลอเลสเตอรอล อินเดียเป็นชาติหนึ่งที่มีการใช้สมุนไพรขิงอย่างแพร่หลาย การใช้ขิงแห้งและขิงสดไม่แตกต่างกัน โดยใช้ขิงในการทาถูนวดเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ใช้ขิงลดการอักเสบ แก้ปวด ลดอาการบวมน้ำ ใช้เป็นยากระตุ้นการอยากอาหาร เป็นยาช่วยย่อย ช่วยขับลมในลำไส้ นอกจากนี้ขิงยังช่วยทำความสะอาดปากและคอ ช่วยระงับการคลื่นไส้อาเจียน ช่วยกระตุ้นกำหนัด ในตำรับยาทางอายุรเวทยังมีการใช้ขิงในการลดการบวม และการอักเสบของตับ คนพื้นเมืองอินเดียทั่วไปยังนิยมใช้น้ำคั้นจากกระเทียมรักษาอาการหอบหืด ทั้งยังมีการใช้ขิงผงแห้งละลายน้ำอุ่นทาที่หน้าผากรักษาอาการปวดหัว ในประเทศตะวันตกมีการนำขิงไปใช้ประโยชน์ตั้งแต่มีการติดต่อค้าขายจากทะเลแดงถึงอเล็กซานเดรีย ในคริสต์ศตวรรษที่ 1 หมอชาวกรีกจะใช้ขิงช่วยย่อยอาหารและช่วยแก้พิษ และกาเลนแพทย์ที่มีชื่อเสียงของกรีกได้การใช้ขิงในการรักษาอัมพาต โรคปวดปลายประสาท และโรคเก๊าฑ์ แพทย์ชาวอาหรับโบราณก็ใช้ประโยชน์จากขิงคล้ายๆ กัน แต่ที่แตกต่างคือจะเน้นการใช้ขิงในการกระตุ้นความกำหนัด ส่วนคนยุโรปโดยทั่วไปจะใช้ขาขิงในการช่วยย่อย ช่วยรักษาอาการท้องอืดจากการดื่มเหล้า ช่วยขับลม ทั้งยังใช้ในการรักษาโรคเก๊าฑ์ และกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต นักสมุนไพรรุ่นใหม่ของตะวันตกมักแนะนำให้ใช้ขิงในการช่วยย่อยอาหาร ช่วยในการไหลเวียนของโลหิต และลดการคลื่นไส้อาเจียน จากการเคลื่อนไหวที่ไม่สมดุล (motion sickness) รวมทั้งให้ใช้ลดการคลื่นไส้อาเจียนจากการแพ้ท้องได้บ้างในคนท้อง แต่คนท้องไม่ควรรับประทานเป็นประจำ ปัจจุบันตลาดสมุนไพรในประเทศตะวันตกมีผลิตภัณฑ์ขิงอยู่เป็นจำนวนมากทั้งในรูปแบบของแคปซูล ขิงแห้งป่น ชาขิง และทิงเจอร์ ประเทศไทยนับว่าโชคดีที่เราสามารถปลูกขิงได้เอง มีขิงใช้ทั้งปี เป็นได้ทั้งอาหารเป็นได้ทั้งยา ยิ่งใกล้หนาวขิงดูเหมือนจะเป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกายมากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอมีความต้านทานต่ออากาศเย็นได้น้อย เดี๋ยวจะพลอยเป็นหวัด ไม่สบายไปในหน้าหนาว หรือคนที่มีโรคหอบหืดประจำตัวหน้าหนาวก็มักจะมีอาการกำเริบมากขึ้น จากข้อมูลการใช้ขิงของนานาชาติที่ได้กล่าวมา คงพอจะเป็นความภูมิใจ และมั่นใจให้กับคนไทยว่าภูมิภาคของเรามีอะไรๆ ดีอยู่ใกล้ตัวนี่เอง
|
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Zingiber officinal Rosc แหล่งอ้างอิง : มูลนิธิสุขภาพไทย
|