Zingiber officinale Rosc.
ไม้ล้มลุก สูง ๐.๓-๑ เมตร มีเหง้าใต้ดิน เปลือกนอกสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีนวลมีกลิ่นเฉพาะ แทงหน่อหรือลำต้นเทียมเช่นเดียวกับไพล ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานแกมใบหอก กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๑๕-๒๐ ซม. ดอกช่อแทงออกจากเหง้า กลีบดอกสีเหลืองแกมเขียว ใบประดับสีเขียวอ่อน ผลเป็นผลแห้งมี ๓ พู
ขิงเป็นพืชที่ชอบขึ้นในดินร่วนซุย ขิงมีรสเผ็ดตามความแก่อ่อนของอายุขิง ขิงอ่อนมีรสเผ็ดน้อย ขิงแก่จะมีรสเผ็ดมากขึ้นตามลำดับ ขิงนิยมปลูกทั่วไปทุก ๆ ภาคของประเทศ มีปลูกมากที่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดพิษณุโลก เป็นต้น
ขิงนิยมปลูกในฤดูฝนอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ ๓ เดือน ถ้าเกินจากนั้นจะเป็นขิงแก่มีรสเผ็ดแต่สามารถเก็บไว้ได้นานๆ ขิงที่นำมาทำน้ำขิงพาสเจอร์ไรส์เป็นขิงอ่อนรสเผ็ดน้อย ไม่ต้องปอกเปลือกจะทำให้น้ำหอมดีขึ้น ตำรายาไทยใช้เหง้าขิงแก่ทั้งสดและแห้ง เป็นยาขับลม แก้อาเจียนแก้ไอขับเสมหะ และขับเหงื่อโดยใช้ขิงสดขนาดนิ้วหัวแม่มือต้มกับน้ำ หรือใช้ผงขิงแห้งชงน้ำดื่ม จากการทดลองกับอาสาสมัคร ๓๖ คน พบว่าผงขิงป้องกันการเมารถเมาเรือได้ดีกว่ายาแผนปัจจุบัน (dimenhydrinate) ในเหง้ามีน้ำมันหอมระเหย ประกอบด้วย menthol, borneol, fenchone, 6-shogoal และ 6-gingerol menthol มีฤทธิ์ขับน้ำดี ช่วยย่อยไขมัน นอกจากนี้พบว่าสารที่รสเผ็ดได้แก่ 6-shogoal และ 6-gingerol ลดการบีบตัวของลำไส้ จึงช่วยบรรเทาอาการปวดท้องเกร็ง
|
ที่มา : หนังสือ "สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน" เล่ม ๕ , เล่ม ๑๔ โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด้จพระเจ้าอยู่หัว, หนังสือ "สมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ" หน้า ๒๑๐ โดย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, เอกสาร "โรงน้ำผลไม้สวนจิตรลดา" โดย โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
|